วันนี้ พ่อขอพูดถึง “รูปพระตาย” อันเป็นรูปไม้แกะสลักอันทรงคุณค่าฝ่ายวิญญาณของเราคริสตชนวัดกาลหว่าร์ และอันเป็นที่มาของชื่อวัด “กาลหว่าร์” ซึ่งเป็นชื่อเนินเขาที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนกางเขนนั่นเอง รูปนี้ยังมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะตามที่บันทึกไว้ในประวัติของวัด รูปนี้เป็นหนึ่งในสองรูปที่ชาวโปรตุเกสนำมาด้วย เมื่อพากันหนีจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อคราวที่เราต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า นั่นคือเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

ในหนังสือ 100 ปีศรีกาลหว่าร์ ผู้ใช้นามปากกาว่า “เบนยามิน” ได้พูดถึงรูปพระตายนี้อยู่บ้าง ผู้เขียนได้ยอมรับว่าไม่มีใครทราบแน่ว่ารูปนี้มีต้นเดิมมาจากไหน มีแต่คำร่ำลือกันว่า “รูปนี้ลอยน้ำมาตั้งแต่นานแล้ว สมัยเมื่อพระสงฆ์โปรตุเกสยังดูแลวัดนี้อยู่ก่อนสร้างวัดปัจจุบันเสียอีก” แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง พ่อเองเห็นว่าเรื่องราวรูปพระตายลอยน้ำมานี้ มีข้อสังเกตที่ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์อยู่บ้าง นั่นคือประวัติบอกว่าชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำพระรูปนี้มาจากอยุธยา จึงไม่ใช่รูปที่ลอยน้ำมาเองอย่างอัศจรรย์จากไหนก็ไม่รู้ และวัดนี้ก็ไม่เคยมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสดูแลเลย มีแต่ชาวโปรตุเกสที่อพยพมาและคอยดูแลรูปพระตายนี้เท่านั้น เนื่องจากไม่มีพระสงฆ์โปรตุเกสดูแลนั่นเอง ส่วนรูปนี้มาจากไหนเป็นของใคร ความเห็นของพ่อก็คือเป็นรูปที่มาจากวัดคาทอลิกที่อยู่ในความดูแลของพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น รูปนี้จึงเป็นของพระศาสนจักรตั้งแต่แรก ต่อมา เมื่อต้องหนีจากอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์มาด้วย มีแต่ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นผู้ดูแลรักษาในขณะที่ยังไม่มีพระสงฆ์และยังไม่มีวัดเป็นกิจลักษณะนั่นเอง

คำร่ำลือหรือตำนานเรื่องรูปพระตายลอยน้ำมา หากจะเกิดขึ้นจริงก็ไม่ใช่ที่วัดกาลหว่าร์ แต่น่าจะเป็นวัดเดิมที่อยุธยา อย่างไรก็ตามไม่มีใครหรือหลักฐานใดยืนยันได้เลย กระนั้นก็ตาม คำร่ำลือนี้ก็เรียกศรัทธาจากสัตบุรุษให้มาชมและแสวงบุญจากรูปนี้อย่างมากมายจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่พ่อไม่ต้องการให้พี่น้องติดยึดอยู่กับคำร่ำลือ แต่ควรให้ศิลปะของรูปพระตายนี้เองสะท้อนให้เห็นผลร้ายแห่งบาปของเรามากกว่า อันที่จริง รูปที่เรียกอารมณ์สะเทือนใจได้เช่นนี้ ในตัวของมันเองก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยตำนานอะไรมาเป็นเครื่องช่วยดึงดูดจิตใจของเราอีกแล้ว

พ่อยอมรับว่ารูปพระตายนี้เป็นรูปที่เตือนความเชื่อความศรัทธาของเราเป็นอย่างดี คุณค่าแท้จริงก็อยู่ที่เรื่องนี้ เมื่อเราได้มาเห็น มาสวด มาให้เกียรติด้วยการแห่ บุญก็เกิดในใจแล้ว ส่วนความเชื่อถือหรือการปฏิบัติอื่นๆ ก็ไม่ควรจะเลยเถิดเกินไป

แต่ก่อน เมื่อเสร็จพิธีแห่ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์แล้ว เราก็นำรูปพระตายนี้เก็บไว้ในลังไม้ จนกว่าจะถึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์อีกปีหนึ่ง พ่อเองเห็นว่า คงจะดีกว่าหากเราเชิญพระรูปนี้ให้อยู่ประจำในที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมาเยี่ยมชมและสวดได้ตลอดเวลา ซึ่งก็ได้ทำเช่นนี้มาหนึ่งปีแล้ว มีพี่น้องคริสตชนและคนต่างศาสนามาชมและสวดพอสมควรทีเดียว พ่อจึงถือโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องด้วย พระรูปนี้จะอยู่ในวัดน้อยของวัดคืออยู่ในบริเวณหลังวัดนั่นเอง

                                                                       พ่อสุรสิทธิ์